ข่าวเด่น

ชงถ้ำหลวงเป็นอุทยานแห่งชาติ ยังปิดไม่มีกำหนดรอการฟื้นฟู

เมื่อวันที่ 14 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สมาคมขัวศิลปะ ต.บ้านดู่ อ.เมืองเชียงราย จ.เชียงราย นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้เดินทางไปชมการวาดภาพบนผืนผ้าใบยาว 13 เมตร กว้าง 3 เมตร เกี่ยวกับเหตุการณ์ช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาดามี ที่ติดถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย ซึ่งพบว่าบรรดาศิลปินนับ 100 คน นำโดย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย ได้ร่วมกันวาดภาพได้อย่างงดงาม

นอกจากนี้ศิลปินยังได้ออกแบบรูปปั้นนาวาตรีสมาน กุนัน ที่เสียชีวิตจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งอาจารย์เฉลิมชัยและศิลปินจะสร้างให้มีขนาด 1 เท่าครึ่งของคนจริง แล้วนำไปตั้งไว้ที่อนุสรณ์สถานหน้าถ้ำหลวงร่วมกับสิ่งปลูกสร้างที่มีรูปทรงเป็นศาลาสำหรับจัดแสดงภาพวาดดังกล่าวและภาพถ่ายรวมทั้งอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับถ้ำหลวงต่อไป

โดยนายธัญญา กล่าวว่า เมื่อตนได้เห็นบรรดาศิลปินชาวเชียงรายได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะเช่นนี้ทำให้ตนมีความตื้นตันใจอย่างมาก เพราะทำให้เห็นว่าเมื่อมีวิกฤติคนไทยจะช่วยเหลือกัน ส่วนกรณีที่ศิลปินเสนอให้มีสิ่งปลูกสร้างภายในวนอุทยานแห่งนี้นั้นเป็นลักษณะของการร่วมกันดำเนินการกับกรมอุทยานฯ ลักษณะจะเป็นพิพิธภัณฑ์เพื่อเล่าเรื่องราวเหตุการณ์ทั้งหมดที่เกิดขึ้นเพื่อให้คนไทยและคนทั้งโลกได้เดินทางไปศึกษา อย่างไรก็ตามมีระเบียบต่างๆ เกี่ยวกับสถานที่เช่นกันกระนั้นก็ถือว่าสามารถสร้างได้ ซึ่งก็จะได้ไปดูสถานที่พร้อมอาจารย์เฉลิมชัยในวันที่ 15 ก.ค.นี้เวลา 10.00 น.เพื่อดูรายละเอียดการก่อสร้าง เบื้องต้นใช้เนื้อที่ไม่มากและที่สำคัญคือให้กลมกลืนกับธรรมชาติซึ่งก็ทราบว่าอาคารสร้างด้วยไม้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมาก

นายธัญญา กล่าวอีกว่า สำหรับแผนพัฒนาพื้นที่วนอุทยานถ้ำหลวงฯ นั้นได้จัดทำไว้แล้วทั้งระยะสั้นและยาวโดยอยู่ระหว่างให้ พล.อ.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเพื่ออนุมัติดำเนินการต่อไป เบื้องต้นจึงมีการปิดถ้ำไม่เปิดให้ประชาชนเข้าออก การพัฒนาในอนาคตก็จะมีการจัดระบบลงทะเบียนเข้าออกด้วยเวลาที่ชัดเจน มีกระแสไฟฟ้า กล้องวงจรปิด เจ้าหน้าที่มีระบบดูแลความปลอดภัยหรือเซฟตี้ เป็นต้น สำหรับภาพรวมนั้นกรมอุทยานฯ ได้ตั้งคณะกรรมการร่วมกับนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ทำการสำรวจถ้ำทั่วประเทศเพื่อจัดทำรูปแบบหรือโมเดลถ้ำต่างๆ ว่ามีลักษณะอย่างไร อันตรายจุดไหนอย่างไร มีการวัดระดับน้ำขึ้นลงในถ้ำ เป็นต้น ต่อไป

ส่วนกรณีถ้ำหลวงนั้นตนอยากให้มีการยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติ เพื่อจะได้บริการจัดการได้สะดวกและคล่องตัว จึงได้มอบหมายให้รองอธิบดี กรมฯ ได้ร่วมกับผู้อำนวยการฝ่ายสำรวจพื้นที่ ได้ทำการสำรวจวนอุทยานถ้ำหลวงฯ เพิ่มเติมและจัดให้มีการสอบถามความคิดเห็นของประชาชนว่ามีความต้องการให้ยกระดับเป็นอุทยานแห่งชาติหรือไม่ซึ่งความแตกต่างจากการเป็นวนอุทยานคือสามารถจัดเก็บรายได้จากค่าเข้ามาในเขตอุทยานแห่งชาติแล้วนำรายได้มาพัฒนาพื้นที่ได้ต่อไป

“สิ่งที่จะต้องดำเนินการเฉพาะหน้าก่อนคือการฟื้นฟูสภาพของวนอุทยานถ้ำหลวงฯ ให้ฟื้นคืนสภาพเดิมจากการปฏิบัติการที่ผ่านมาโดยเร็ว ส่วนภายในถ้ำพบว่าน้ำยังท่วมและมีอุปกรณ์ต่างๆ คงค้างหลายรายการ เช่น สายไฟฟ้า ถังอ๊อกซิเจน ฯลฯ ซึ่งต้องรอฤดูแล้งหรือระดับน้ำเข้าสู่ภาวะปกติจึงจะนำออกมาได้โดยกรมอุทยานฯ มีกำลังพลเพียงพอแต่ที่ผ่านมาก็มีการทำงานแบบประชารัฐโดยได้รับความช่วยเหลือจากหน่วยงานต่างๆ ทั้งฝ่ายปกครอง ทหาร ตำรวจ ฯลฯ ซึ่งก็คงจะมีการขนย้ายออกมาต่อไป ส่วนจะมีการเปิดถ้ำใหม่อีกครั้งเมื่อไหร่นั้นคงตอบไม่ให้และจะไม่มีการกำหนดระยะเวลาให้เกิดข้อจำกัด เพราะต้องมีการพัฒนาให้มีความพร้อมก่อนเมื่อมีความพร้อมก็ค่อยเปิดให้เข้าชมถ้ำได้ต่อไป ทั้งนี้ตามปกติถ้ำหลวงก็มีการปิดในช่วงฤดูฝนหรือเดือน ก.ค.เป็นต้นไปของทุกปีอยู่แล้ว แต่เนื่องจากปีนี้มีปริมาณน้ำฝนมากทำให้น้ำในถ้ำขึ้นเร็วและเกิดเหตุดังกล่าวตั้งแต่เดือน มิ.ย.ในที่สุด” นายธัญญา กล่าว.