ข่าวเด่น

ผู้ว่าฯ ยันภูชี้ฟ้าเที่ยวได้ไม่อันตราย เร่งซ่อมแซมเตรียมรับนักท่องเที่ยว

เมื่อวันที่ 31 ก.ค.2561 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประจญ ปรัชญ์สกุล ผู้ว่าราชการ จ.เชียงรายลงพื้นที่ไปตรวจการแก้ไขปัญหากรณีดินถล่มบนถนนหมายเลข 1093 หมู่บ้านร่มฟ้าไทย หมู่ 24 ต.ตับเต่า อ.เทิง จ.เชียงราย จนทำให้อาคารบ้านเรือนร้านอาหารทรุดตัวตกลงไปในหุบเขาลึกหลายหลังแต่ไม่มีผู้ได้รับอันตราย

ทั้งนี้ นายประจญ ได้ตรวจดูสถานที่และประชุมเจ้าหน้าที่ ณ อาคารเอนกประสงค์ประจำหมู่บ้านร่มฟ้าไทย ที่ใช้เป็นศูนย์อำนวยการแก้ไขปัญหาหลังจากจังหวัดเชียงรายประกาศเป็นเขตประสบภัยพิบัติจากเหตุดินถล่ม โดยได้มีการสั่งการให้ทางองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ตับเต่า เป็นหน่วยงานขับเคลื่อนในพื้นที่ มี นายนิวัฒน์ งามธุระ นายอำเภอเทิง เป็นผู้อำนวยการเห็นชอบแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า โดยเฉพาะการใช้อำนาจจากการประกาศดังกล่าวให้พิจารณาให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงให้ย้ายออกไปจากพื้นที่ได้หากเห็นว่าพื้นที่นั้นๆ ไม่มีความมั่นคงเพื่อความปลอดภัยรวมทั้งให้เข้มงวดการกั้นพื้นที่เพื่อไม่ให้คนเข้าใกล้ รวมทั้งจัดเวรยามดูแลตลอด 24 ชั่วโมง

นายประจญ กล่าวว่า จุดดินถล่มถือว่าลึกประมาณ 40-50 เมตร ทำให้อาคารเสียหายทั้งหมดและมีผู้อาศัยใช้ประโยชน์จำนวน 4 ราย และด้านข้างก็มีอาคารติดขอบดินทรุดทำให้เสียหายบางส่วนจำนวน 2 หลัง จึงรวมผู้เสียหายทั้งหมด 6 ราย เบื้องต้นได้ให้การช่วยเหลือมอบสิ่งของจากเหล่ากาชาด จ.เชียงราย ให้ก่อนแล้วรวมทั้งมีเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ดูแล สำหรับถนนสายนี้ถือเป็นถนนหลักที่มีนักท่องเที่ยวมาจากทั้งด้าน อ.ภูซาง จ.พะเยา และทาง อ.เทิง จ.เชียงราย ใช้เพื่อไปยังภูชี้ฟ้า ดังนั้นจึงให้ทางแขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 ร่วมกับศูนย์อำนวยการฯ เข้าปรับสภาพพื้นที่โดยเบื้องต้นจะมีการนำสะพานแบริ่งไปติดตั้งก่อน และจากการประเมินเบื้องต้นจะไม่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยเฉพาะฤดูหนาวที่จะมาถึงนี้ซึ่งมักมีนักท่องเที่ยวไปเยือนเป็นจำนวนมากแน่นอน เพราะพื้นที่ส่วนใหญ่ยังสัญจรไปมาได้และเมื่อมีสะพานแบริ่งก็สามารถไปมาได้โดยสะดวก ส่วนการแก้ไขปัญหาระยะยาวก็จะได้ทำการปรับสภาพพื้นที่และซ่อมแซมก่อสร้างผิวจราจรใหม่ซึ่งคงจะเป็นช่วงพ้นฤดูฝนไปแล้วต่อไป

ด้านแขวงทางหลวงเชียงรายที่ 2 ได้มีการขนย้ายสะพานแบริ่งไปยังภูชี้ฟ้าแล้วโดยมีกำหนดไปถึงในวันที่ 1 ส.ค. อย่างไรก็ตามเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ระบุว่าเบื้องต้นจะมีการปรับสภาพพื้นที่ด้านล่างที่มีอาคารทรุดลงไป แล้วนำหินและดินทรายเติมเข้าถล่มตรงช่องโหว่ที่ดินถล่ม จากนั้นปรับพื้นที่ด้านบนให้แข็งแรงโดยอาจจะไม่ต้องใช้สะพานแบริ่งแต่อย่างใด แต่จะมีการประเมินสถานการณ์หลังจากนี้ต่อไปอีก 3 วันก่อนว่าจะดำเนินการดังกล่าวได้หรือไม่ หรือจะใช้สะพานแบริ่งต่อไป.